หลักเกณฑ์ของค่ารับรอง
1. ค่ารับรองหรือค่าบริการอันจำป็นตามธรรมเนียมประเพณีธุรกิจทั่วไป กิจการโดยทั่วไปมักจะมีธรรมเนียมประเพณีปฏิบัติเมื่อมีบุคคลภายนอก เช่น ลูกค้า เจ้าหนี้ ผู้เข้าเยี่ยมชมกิจการ ได้เข้ามาติดต่อกับกิจการจะมีการเลี้ยงรับรองเพื่อประโยชน์ที่กิจการอาจจะได้รับผลตอบแทนทางธุรกิจได้ในอนาคตหรือเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การดำเนินงานของกิจการเป็นการทั่วไป
2. บุคคลซึ่งได้การรับรองหรือรับบริการต้องมิใช่ลูกจ้างของกิจการยกเว้นมีหน้าที่เข้าร่วมในการรับรองหรือบริการนั้นด้วย การรับรองหรือบริการนั้นจะต้องเป็นการรับรองหรือบริการบุคคลภายนอกที่มิใช่ลูกจ้าง พนักงาน กรรมการหรือผู้จัดการ ยกเว้นจะมีหน้าที่เข้าร่วมในการรับรองหรือบริการนั้นด้วย ข้อสังเกตอย่างหนึ่ง หากกิจการไปเลี้ยงรับรองเฉพาะพนักงานโดยไม่มีบุคคลภายนอกไปร่วมรับรองด้วย ไม่ถือเป็นรายจ่ายค่ารับรองตามประมวลรัษฎากร
3. ต้องเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการรับรองหรือบริการที่จะเป็นการอำนวยประโยชน์ให้แก่กิจการที่อาจจะมีผลตอบแทนเกิดขึ้นในอนาคตซึ่งจะต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อกิจการ
4. ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการรับรอง แบ่งออกเป็น
- 4.1 ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องโดยตรง
- 4.2 ค่ารับรองหรือบริการบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจที่จะถือเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เช่น
ก. ค่าที่พัก บางกิจการได้มีการออกค่าที่พักโรงแรม อพาร์ตเมนต์หรือห้องชุด ให้แก่ลูกค้า
ข. ค่าพาหนะ บางกิจการได้มีการออกค่าพาหนะ เช่น ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่ารถ ให้แก่ลูกค้าเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการติดต่อธุรกิจให้รวดเร็วขึ้น
ค. ค่าอาหารและเครื่องดื่ม เป็นการรับรองที่เกิดขึ้นกับทุกกิจการที่ต้องมีการเลี้ยงอาหารและเครื่องดื่มแก่บุคคลภายนอกที่ติดต่อกับกิจการ
ง. ค่าดูมหรสพ พาบุคคลภายนอกที่ติดต่อกับกิจการไปดูมหรสพ เช่น ดูละคร การแสดงดนตรี กายกรรม มายากล
จ. ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับกีฬา พาบุคคลภายนอกที่ติดต่อกับกิจการไปเล่นกีฬา เช่น เล่นกอล์ฟ ออกกำลังกาย
ข้องสังเกต ในการรับรองบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจโดยการรับรองหรือบริการที่เป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวเนื่องโดยตรงดังกล่าวข้างต้น กฎหมายไม่ได้กำหนดจำนวนเงินว่า การรับรองหรือค่าบริการแต่ละครั้งต้องไม่เกินจำนวนเงินเท่าใด หน้าที่ของผู้ประกอบการจะต้องพิสูจน์ให้เจ้าพนักงานประเมินเชื่อได้ว่า มีการรับรองหรือบริการจริง และจำนวนเงินที่จ่ายพอสมควรแก่การรับรองหรือบริการดังกล่าว - 4.3 ค่าสิ่งของ การให้สิ่งของแก่บุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ เช่น ให้นาฬิกา วิทยุ ปากกา กระเช้าผลไม้ กระเช้าอาหารเครื่องดื่ม
5. มูลค่าของค่ารับรองหรือค่าบริการ
ค่ารับรองหรือบริการบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 143 ไม่ได้กำหนดจำนวนเงินสำหรับค่าใช้จ่ายในการรับรอง (ข้อ 4.1) ต้องไม่เกินเท่าไร ในทางปฏิบัติควรจะมีการกำหนดเพื่อสะดวกต่อการควบคุมภายในของกิจการ และจะต้องพิสูจน์ให้สรรพากรเชื่อได้ว่ามีการรับรองจ่ายและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อกิจการ แต่ถ้าการรับรองหรือบริการนั้นเป็นการให้เป็น “สิ่งของ” กฎหมายจำกัดจำนวนเงินไม่เกินคนละ 2,000 บาท ในแต่ละคราวที่มีการรับรองหรือการบริการ ดังนั้นหากกิจการให้ “สิ่งของ” แก่บุคคลภายนอกที่กี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจจะต้องไม่เกินคนละ 2,000 บาทต่อครั้ง หากค่ารับรองหรือบริการดังกล่าวไม่ถึง 2,000 บาท จะถือเป็นค่าใช้จ่ายได้เท่าที่จ่ายจริง และหากจ่ายเกินกว่า 2,000 บาท จะถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร
6. ค่ารับรองและบริการรวมกันต้องไม่เกิน 0.3%
ค่ารับรองและค่าบริการของกิจการไม่ได้จำกัดจำนวนเงินในการรับรองหรือบริการต่อครั้ง ยกเว้นการให้เป็น “สิ่งของ” จำกัดจำนวนเงินต้องไม่เกิน 2,000 บาท ต่อคนและต่อครั้งแห่งการรับรองหรือบริการ และเมื่อมีค่ารับรองและค่าบริการตลอดทั้งปีหรือตลอดรอบระยะเวลาบัญชีรวมกันต้องไม่เกิน 0.3% ของ
- ก. ยอดรายได้
- ข. ยอดขาย
- ค. เงินทุนที่ชำระแล้ว ณ วันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี
ดังนั้นเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีจะต้องมีการเปรียบเทียบจำนวนเงินทั้ง 3 กรณีดังกล่าวว่าจำนวนเงินมากกว่า ให้คำนวณ 0.3% จากยอดนั้น หากกิจการดำเนินมาหลายรอบระยะบัญชีแล้วมักจะมียอดรายได้สูงกว่ายอดอื่นทั้งหมดเนื่องจากยอดรายได้หมายถึง รายได้จากการขายและหรือรายได้บริการ บวกด้วยรายได้อื่นของกิจการ