ภาษีเงินได้นิติบุคคลคำนวณจากกำไรสุทธิ
1.ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิ
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิ ได้แก่
1.1 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ได้แก่
- ก. บริษัทจำกัด
- ข. บริษัทมหาชนจำกัด
- ค. ห้างหุ้นส่วนจำกัด
- ง. ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน
ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยมีสาขาไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกประเทศไทยจะต้องนำกำไรสุทธิของสาขามารวมกำไรสุทธิของสำนักงานใหญ่เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย
1.2 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย ได้แก่
- ก. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และกระทำกิจการในที่อื่นๆ รวมทั้งในประเทศไทย ได้แก่ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศดังกล่าว จะต้องนำกำไรสุทธิเฉพาะที่ได้จากการกระทำกิจการในประเทศไทยมาเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
- ข. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศมีลูกจ้าง หรือผู้ทำการแทน หรือผู้ทำการติดต่อในการประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้หรือผลกำไรในประเทศไทย ให้ถือว่าบุคคลผู้เป็นลูกจ้าง หรือผู้ทำการแทน หรือผู้ทำการติดต่อเช่นว่านั้นไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล เป็นตัวแทนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและให้บุคคลนั้นมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการยื่นรายการและเสียภาษีเงินได้เฉพาะที่เกี่ยวกับเงินได้หรือผลกำไรดังกล่าว
1.3 กิจการซึ่งดำเนินการเป็นทางค้าหรือหากำไรโดยรัฐบาลต่างประเทศองค์การของรัฐบาลต่างประเทศ หรือนิติบุคคลอื่นที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ
1.4 กิจการร่วมค้า
2. รอบระยะเวลาบัญชี
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีจากกำไรสุทธิต้องคำนวณกำไรสุทธิจากรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีหักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี ซึ่งประมวลรัษฎากรได้กำหนดระยะเวลาบัญชีหนึ่งๆ ไว้ดังนี้
2.1 รอบระยะเวลาบัญชีโดยทั่วไป
รอบระยะเวลาบัญชีโดยทั่วไปสำหรับการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลจะต้องเท่ากับ 12 เดือน โดยจะเริ่มต้นและสิ้นสุดลงเมื่อใดก็ได้
2.2 รอบระยะเวลาบัญชีซึ่งน้อยกว่า 12 เดือน
กรณีที่กฎหมายยอมให้รอบระยะเวลาบัญชีน้อยกว่า 12 เดือน ได้เฉพาะกรณีดังต่อไปนี้ คือ
- ก. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเริ่มตั้งใหม่ จะถือวันเริ่มตั้งถึงวันหนึ่งวันใดเป็นรอบระยะเวลาบัญชีแรกก็ได้ แต่รอบระยะเวลาบัญชีต่อไปต้องเท่ากับ 12 เดือน
- ข. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอาจยื่นคำร้องขอเปลี่ยนวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีก็ได้ ตามที่อธิบดีกรมสรรพากรจะเห็นสมควรและสั่งอนุญาต ซึ่งรอบระยะเวลาบัญชีแรกที่ได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนจะน้อยกว่า 12 เดือน
- ค. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนที่เลิกกัน ให้ถือเอาวันที่เจ้าพนักงานจดทะเบียนเลิกเป็นวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี
- ง. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลควบเข้ากัน ให้ถือว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นเลิกกันรอบระยะเวลาบัญชีที่ควบเข้ากันจึงเป็นไปตามข้อ ค. ซึ่งอาจน้อยกว่า 12 เดือน
ในกรณีที่บริษัทเลิกกิจการและยังชำระบัญชีไม่เสร็จ หากมีกำไรสุทธิเกิดขึ้นจะต้องนำมาเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ถือว่าบริษัทยังมีสภาพเป็นนิติบุคคลอยู่ตราบเท่าที่ยังชำระบัญชีไม่เสร็จสิ้น
2.3 รอบระยะเวลาบัญชีมากกว่า 12 เดือน
รอบระยะเวลาบัญชีอาจขยายออกไปมากกว่า 12 เดือนก็ได้ ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เลิกกิจการ หากผู้ชำระบัญชีและผู้จัดการไม่สามารถยื่นรายการและเสียภาษีได้ภายใน 150 วันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีแล้ว ถ้ายื่นคำร้องต่ออธิบดีภายใน 30 วันนับแต่วันที่เจ้าพนักงานรับจดทะเบียนเลิก อธิบดีกรมสรรพากรอาจพิจารณาอนุมัติให้ขยายรอบระยะเวลาบัญชีออกไปได้ ซึ่งรอบระยะเวลาบัญชีรอบนี้อาจไม่เกิน 12 เดือนก็ได้
3. กำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
ตามประมวลรัษฎากรได้กำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิโดยคำนวณจากรายได้ซึ่งได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะบัญชีหักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี การคำนวณรายได้และรายจ่ายดังกล่าวให้ใช้เกณฑ์สิทธิ โดยให้นำรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใดแม้นว่าจะยังไม่ได้รับชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นมารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นและให้นำรายจ่ายทั้งสิ้นที่เกี่ยวกับรายได้นั้น แม้จะยังมิได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นมารวมคำนวณเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ในกรณีจำเป็นผู้มีเงินได้จะขออนุมัติต่ออธิบดีเพื่อเปลี่ยนแปลงเกณฑ์สิทธิ และวิธีการบัญชีเพื่อคำนวณรายได้และรายจ่ายตามเกณฑ์อื่นก็ได้ และเมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดีแล้วให้ถือปฏิบัติตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่อธิบดีกำหนดเป็นต้นไป นอกจากนี้แล้วประมวลรัษฎากรได้กำหนดเงื่อนไขต่างๆ ในการคำนวณกำไรสุทธิไว้ดังนี้
- 3.1 มาตรา 65 ทวิ กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา การตีราคาทรัพย์สินและสินค้าคงเหลือ การจำหน่ายหนี้สูญ การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยและเงินปันผลในบางกรณี
- 3.2 มาตรา 65 ตรี กำหนดรายจ่ายที่จะนำมาหักในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่ได้หรือถ้าหากจะนำมาหักได้ก็ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้
- 3.3 มาตรา 70 ตรี กำหนดให้ถือว่าการที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลส่งสินค้าออกไปต่างประเทศให้แก่ สำนักงานใหญ่ สาขา ฯลฯ เป็นการขายในประเทศ
- 3.4 มาตรา 74 กำหนดวิธีการคำนวณกำไรสุทธิ ในกรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนเลิกกัน หรือควบเข้ากันกับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่น
การที่ประมวลรัษฎากรบัญญัติเงื่อนไขต่างๆ ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล มีผลทำให้กำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลต่างไปจากกำไรสุทธิที่คำนวณขึ้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการทางบัญชี ดังนั้นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะต้องปรับปรุงกำไรสุทธิตามหลักการบัญชีให้สอดคล้องกับเงื่อนไขตามประมวลรัษฎากร เพื่อให้ได้กำไรสุทธิที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ถูกต้องเป็นไปตามประมวลรัษฎากร และนโยบายในการวางแผนภาษีของกิจการ