อัตราภาษีและการคำนวณภาษี

1.อัตราภาษี

ก. ภาษีจากกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลร้อยละ 20
ข. ภาษีจากกำไรสุทธิเฉพาะกรณีที่ได้จากการประกอบกิจการวิเทศธนกิจตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การประกอบกิจการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2535 ร้อยละ 10

2.การคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิ
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิจะต้องคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล และยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีปีละ 2 ครั้งดังนี้

  • ก. การคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี
    การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีนั้นได้มีบัญญัติไว้ในมาตรา 67 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรดังนี้
    (1) ในกรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนอกจากที่กล่าวใน (2) ให้จัดทำประมาณการกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ ซึ่งได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่ได้กระทำหรือจะได้กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น แล้วให้คำนวณและชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลจากจำนวนกึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น
    (2) ในกรณีบริษัทจดทะเบียน ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ หรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด ให้คำนวณและชำระภาษีจากกำไรสุทธิของรอบระยะเวลา 6 เดือน นับแต่วันแรกของรอบระยะเวลาบัญชีตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี

    ภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีนี้ ให้ถือเป็นเครดิตในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีคือ เอาไปหักออกจากภาษีที่จะต้องเสียจากกำไรสุทธิของทั้งรอบระยะเวลาบัญชี และในกรณีที่ภาษีที่เสียไว้ครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีสูงกว่าภาษีที่จะต้องเสียทั้งรอบระยะเวลาบัญชีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลก็มีสิทธิขอคืนภาษีที่ชำระไว้เกินได้

    กรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีรอบระยะเวลาบัญชีแรกหรือรอบระยะเวลาบัญชีเวลาสุดท้ายน้อยกว่า 12 เดือน ไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีนิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี เพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีน้อยกว่าความเป็นจริง ประมวลรัษฎากรได้มีบทบัญญัติตามมาตรา 67 ตรี ลงโทษบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในกรณีดังต่อไปนี้ คือ
    (1) ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่ยื่นรายการและชำระภาษีจากประมาณการกำไรสุทธิตามมาตรา 67 ทวิ (1) หรือยื่นรายการและชำระภาษีตามมาตรา 67 ทวิ (1) โดยแสดงประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิ ซึ่งได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นโดยไม่มีเหตุอันสมควร บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา 67 ทวิ (1) หรือของกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินภาษีที่ต้องเสียในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นหรือของภาษีที่ชำระขาดแล้วแต่กรณี
    (2) ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่ยื่นรายการและชำระภาษีจากกำไรสุทธิของรอบระยะเวลา 6 เดือน นับแต่วันแรกของรอบระยะเวลาบัญชีตามมาตรา 67 ทวิ (2) หรือยื่นรายการและชำระภาษีไว้ไม่ถูกต้องโดยไม่มีเหตุอันสมควรทำให้จำนวนภาษีที่ต้องชำระขาดไป บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา 67 ทวิ (2) หรือของภาษีที่ชำระขาดแล้วแต่กรณี

    ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.50/2537 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2537 วางทางปฏิบัติว่า ในกรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้จัดทำประมาณการกำไรสุทธิและยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีครึ่งรอบระยะเวลาบัญชีไว้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่แล้วให้ถือเป็นกรณี “มีเหตุอันสมควร”

  • ข. การคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี
    การคำนวณกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลให้คำนวณกำไรสุทธิตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรโดยนำกำไรสุทธิดังกล่าวคูณด้วยอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจะได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต้องชำระ ถ้าคำนวณกำไรสุทธิออกมาแล้วปรากฏว่า ไม่กำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ บริษัทไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

    ถ้าการจัดทำบัญชีของบริษัทได้จัดทำขึ้นตามหลักบัญชีโดยไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในประมวลรัษฎากรเมื่อจะคำนวณภาษีบริษัทจะต้องปรับปรุงกำไรสุทธิดังกล่าวให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรแล้วจึงคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล

    จากบางกรณีดังกล่าวข้างต้นนี้จะเห็นได้ว่า รายจ่ายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจการเมื่อได้นำไปบันทึกบัญชีตามหลักการบัญชีที่ยอมรับโดยทั่วไปแล้วกำไรสุทธิที่คำนวณได้จะเป็นกำไรสุทธิทางบัญชีซึ่งเกิดจากการนำรายได้และรายจ่ายทางบัญชีที่เกิดขึ้นในรอบระยะบัญชีมาคำนวณโดยการจัดทำงบกำไรขาดทุนขึ้นมาดังนี้

    หากกิจการคำนวณกำไรสุทธิทางบัญชีโดยการนำรายจ่ายที่พิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับหรือรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี 65 ทวิ แล้วจะมีผลทำให้กำไรสุทธิที่จะนำไปชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลตอนปลายปี (20%) คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ดังนั้นฝ่ายบัญชีจะต้องนำกำไรสุทธิทางบัญชีไปปรับปรุงให้เป็นไปตามเงื่อนไขตามประมวลรัษฎากร ก็คือปรับปรุงให้เป็นกำไรสุทธิทางภาษีอากรซึ่งจะนำไปปรับปรุงในแบบ ภ.ง.ด.50 อีกด้วย การปรับปรุงกำไรสุทธิจะทำดังนี้