อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล

การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจะคำนวณจากฐานภาษีของเงินได้นิติบุคคลซึ่งก็คือ “กำไร (ขาดทุน) สุทธิ” ในหลักเกณฑ์ของการคำนวณกำไรสุทธิ กิจการจะต้องนำรายได้ทั้งหมดที่เกิดจากการดำเนินงานมาหักออกจากค่าใช้จ่ายทั้งหมดผลแตกต่างที่เกิดขึ้นจะออกมาในรูปของกำไรหรือขาดทุนสุทธิทางบัญชี กิจการจะต้องนำ “กำไรทางบัญชี” มาปรับปรุงให้เป็น “กำไรทางภาษีอากร” เพื่อนำไปคำนวณเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จะนำไปคำนวณกำไรหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีนั้น โดยปกติมีดังนี้

1. สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทั่วไป
1.1 ภาษีจากกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล 20%
1.2 ภาษีตามมาตรา 70 นอกจากที่ระบุใน (1.3) 15%
1.3 ภาษีตามมาตรา 70 เฉพาะกรณีการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ข) 10%
1.4 ภาษีตามมาตรา 70 ทวิ 10%
1.5 ภาษีจากรายได้ก่อนหักรายจ่ายใดๆ ของมูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการซึ่งมีรายได้อันมิใช่รายได้ตามมาตรา 65 ทวิ (13) 10%

2. บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 387) พ.ศ. 2544 มาตรา 3 ให้ลดอัตราภาษีเงินได้ตาม (ก) ของ (2) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแห่งบัญชีอัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร และคงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 300 ล้านบาท เป็นเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกันนับแต่รอบระยะเวลาบัญชีแรกที่เริ่มในหรือหลังวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ (บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2544 เป็นต้นไป) ทั้งนี้ เฉพาะบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ

ให้ลดอัตราภาษีเงินได้ตาม (ก) ของ (2) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแห่งบัญชีอัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร และคงจัดเก็บในอัตราดังต่อไปนี้ เป็นเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกันนับแต่รอบระยะเวลาบัญชีแรกที่เริ่มในหรือหลังวันที่บริษัทที่มีหลักทรัพย์มาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ
(1) ร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิ สำหรับบริษัทที่นำหลักทรัพย์มาจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ตามข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่าด้วยการรับหลักทรัพย์จดทะเบียนใน “ตลาดหลักทรัพย์ mai”
(2) ร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิ สำหรับบริษัทที่นำหลักทรัพย์มาจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์นอกเหนือจากกรณีตาม (1)

บริษัทที่จะได้รับสิทธิในการลดอัตราภาษีเงินได้ดังกล่าว จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
(1) นำหลักทรัพย์ของตนมาจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ภายในเวลา 3 ปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ
(2) ไม่เคยมีหลักทรัพย์จดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในระหว่างระยะเวลา 3 ปีก่อนการจดทะเบียนหลักทรัพย์กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(3) ไม่เป็นบริษัทที่ควบเข้ากันกับบริษัทที่ได้รับสิทธิลดอัตราภาษีเงินได้ตามมาตรา 3 หรือรับโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนจากบริษัทดังกล่าวในระหว่างระยะเวลา 3 ปีก่อนการจดทะเบียนหลักทรัพย์กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(4) ไม่รับโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนจากบริษัทที่ได้รับสิทธิลดอัตราภาษีเงินได้ดังกล่าว อยู่ก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับตลอดระยะเวลาที่บริษัทได้รับสิทธิลดอัตราภาษีเงินได้ หากมีการรับโอนกิจการดังกล่าว ให้ถือว่าบริษัทนั้นหมดสิทธิที่จะได้รับการลดอัตราภาษีเงินได้ตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่มีการรับโอนกิจการ

เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายในการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศจึงได้ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นเวลา 3 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกันนับแต่รอบระยะเวลาบัญชีแรกที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2551 เพื่อกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอันทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งตามพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 475 พ.ศ. 2551 ดังต่อไปนี้

1. ให้ลดอัตราภาษีเงินได้ตาม (ก) ของ (2) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแห่งบัญชีอัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากรให้แก่บริษัทตาม 2. และคงจัดเก็บในอัตราดังต่อไปนี้เป็นเวลา 3 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกันนับแต่รอบระยะเวลาบัญชีแรกที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2551

(1) ร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 20 ล้านบาท สำหรับบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่าด้วยการรับหลักทรัพย์จดทะเบียนใน “ตลาดหลักทรัพย์ mai”
(2) ร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิ เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 300 ล้านบาทสำหรับบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ นอกเหนือจากกรณีตาม (1)

2. บริษัทที่จะได้รับสิทธิ์ในการลดอัตราภาษีเงินได้ตาม 1. จะต้องเป็นบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับและไม่เคยได้รับสิทธิ์ในการลดอัตราภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 467) พ.ศ. 2550 หรือไม่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 3 (1) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 460) พ.ศ. 2549

3. ในกรณีที่บริษัทตาม 2. ได้รับสิทธิในการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 387) พ.ศ. 2544 อยู่ในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ เมื่อได้ใช้สิทธิในการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลครบ 5 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกันตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวแล้ว ให้ได้รับสิทธิในการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลตามพระราชกฤษฎีกานี้ แต่ไม่เกินรอบระยะเวลาบัญชี 2553 ที่สิ้นสุดในหรือหลังวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2553

3. นิติบุคคลที่มีทุนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท
เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายในการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศจึงได้ลดอัตราภาษีเงินได้และยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท โดยลดอัตราภาษีเงินได้สำหรับกำไรสุทธิ เฉพาะส่วนที่เกิน 300,000 บาท แต่ไม่เกิน 3,000,000 บาท และยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับกำไรสุทธิเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาท

3.1 ให้ลดอัตราภาษีเงินได้ตาม (ก) ของ (2) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแห่งบัญชีอัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากรและคงจัดเก็บในอัตราดังต่อไปนี้ ทั้งนี้ เฉพาะบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท
(1) ร้อยละ 15 ของกำไรสุทธิ เฉพาะส่วนที่เกิน 300,000 บาท แต่ไม่เกิน 3 ล้านบาท
(2) ร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิ เฉพาะส่วนที่เกิน 3 ล้านบาท

3.2 ให้ยกภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท สำหรับกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าว เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาท

3.3 การลดอัตราภาษีเงินได้ตาม 3.1 และการยกเว้นภาษีเงินได้ให้ใช้บังคับแต่กำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีซึ่งเริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป