หน้าที่ของผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

ประเภทผู้ประกอบการจดทะเบียน
1. การคำนวณภาษีจากภาษีขาย

หน้าที่
1.เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ และออกใบกำกับภาษีเพื่อเป็นหลักฐานในการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม

2. จัดทำรายงานตามที่กฎหมายกำหนดคือ
2.1 รายงานภาษีซื้อ
2.2 รายงานภาษีขาย
2.3 รายงานสินค้าและวัตถุดิบ
3. ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษี

ข้อสังเกต
1. ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 83/6 ได้กำหนดให้ผู้ประกอบการบางประเภทมีหน้าที่นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการมีหน้าที่เสียภาษี เมื่อมีการชำระราคาสินค้าหรือค่าบริการให้กับผู้ประกอบการดังต่อไปนี้
ก. ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร ซึ่งได้เข้ามาประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการชั่วคราวตามมาตรา 85/3
ข. ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร
ค. ผู้ประกอบการอื่นตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา

2. ในการขายสินค้าหรือการให้บริการที่ได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ให้ผู้รับโอนสินค้าหรือผู้รับโอนสิทธิในบริการมีหน้าที่นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ตนมีหน้าที่ต้องเสีย ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ที่บุคคลนั้นมีภูมิลำเนา

3. ให้ผู้นำเข้าที่มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มยื่นใบขนสินค้าตามแบบที่อธิบดีกรมศุลกากรกำหนดต่อเจ้าพนักงานศุลกากร ณ ด่านศุลกากรตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยศุลกากรและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มต่อเจ้าพนักงานศุลกากรพร้อมกับการชำระอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
ในกรณีนำเข้าสินค้าเข้าไปในคลังสินค้าทัณฑ์บนตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรหรือในกรณีนำเข้าเครื่องจักร หรือวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตเพื่อการส่งออก ของผู้ได้รับการส่งเสริมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ผู้นำเข้าจะวางเงินประกัน หลักประกันหรือจัดให้มีผู้ค้ำประกันเพื่อเป็นประกันภาษีมูลค่าเพิ่มแทนการชำระภาษีก็ได้ วิธีการประกันและการถอนประกันให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี ในการนำเข้าสินค้าที่จำแนกประเภทไว้ในภาคว่าด้วยของที่ได้รับยกเว้นอากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ถ้าภายหลังสินค้านั้นต้องเสียอากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษียื่นใบขนสินค้า และชำระภาษี พร้อมกับการชำระอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร

4. ในกรณีที่มีการนำเข้าสินค้าที่นำเข้าไปในคลังสินค้าทัณฑ์บนตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรหรือเขตอุตสาหกรรมส่งออก ถ้าภายหลังสินค้านั้นได้ปล่อยออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บนโดยมิใช่เพื่อส่งออกหรือได้มีการนำสินค้าออกจากเขตอุตสาหกรรมส่งออกโดยมิใช่เพื่อส่งออก ให้ผู้นำเข้าที่มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มยื่นใบขนสินค้าและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มต่อเจ้าพนักงานศุลกากร พร้อมกับการชำระอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
การเปลี่ยนแปลงการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

เมื่อกิจการมีการเปลี่ยนแปลง เช่น มีการโอนกิจการ รับโอนกิจการ ย้ายสถานประกอบการ เปลี่ยนแปลงรายการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เปิดสถานประกอบการเพิ่มเติม ปิดสถานประกอบการบางแห่ง หยุดประกอบกิจการชั่วคราว ควบกิจการหรือเลิกประกอบกิจการ ผู้ประกอบการจะต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงรายการต่างๆ โดยกรอกแบบแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.09 จำนวน 3 ฉบับ พร้อมเอกสารประกอบการพิจารณา ยื่นต่อเจ้าพนักงาน ณ สถานที่ที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ เอกสารประกอบการพิจารณาที่ผู้ประกอบการต้องแนบไปพร้อมกับแบบ ภ.พ.09 ได้แก่ใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่แจ้งการเปลี่ยนแปลง สำเนาทะเบียนบ้าน หนังสือแสดงการเปลี่ยนแปลงชื่อหรือนามสกุลสำเนาหนังสือรับรองของนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท บัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีหรือหนังสือมอบอำนาจแล้วแต่กรณี