ภาษีเงินได้นิติบุคคล

ภาษีเงินได้นิติบุคคลผู้เสียภาษีอากรจะต้องทราบถึงความหมายของภาษีเงินได้นิติบุคคลว่าหมายถึง ภาษีอากรประเภทหนึ่งที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากรที่จัดเก็บเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลและกฎหมายได้กำหนดผู้มีหน้าที่เสียภาษีและวิธีการเสียภาษีตลอดเงื่อนไขต่างๆ ในการคำนวณภาษีไว้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจะต้องทราบหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ชัดเจนเสียก่อน ภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรจะอยู่ในมาตรา 65 ถึงมาตรา 76 ตรี ซึ่งส่วนสำคัญ ของภาษีเงินได้นิติบุคคลมีดังนี้

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีนิติบุคคลได้แก่ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลโดยประมวลรัษฎากรได้ให้นิยามของคำว่า “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล” ไว้เป็นพิเศษ ซึ่งนอกจากจะหมายถึง บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว ยังหมายความรวมถึงนิติบุคคลอื่นๆ ด้วย ดังนั้น

บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้แก่

1. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ได้แก่

  • ก. บริษัทจำกัด
  • ข. บริษัทมหาชนจำกัด
  • ค. ห้างหุ้นส่วนจำกัด
  • ง. ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน

2. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย ก็ต่อเมื่อเข้าเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้

  • ก. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศนั้น เข้ามากระทำกิจการในประเทศไทย
  • ข. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศนั้น กระทำกิจการในที่อื่นๆ รวมทั้งในประเทศไทย
  • ค. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศนั้น กระทำกิจการอื่นๆรวมทั้งในประเทศไทย และกิจการที่กระทำนั้นเป็นกิจการขนส่งระหว่างประเทศ
  • ง. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศนั้น มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่ได้รับเงินได้พึงประเมินมาตรา 40 (2) (3) (4) (5) หรือ (6) ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย
  • จ. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต่างประเทศนั้น มิได้เข้ามากระทำกิจการในประเทศไทยโดยตรง หากแต่มีลูกจ้างหรือผู้ทำการแทนหรือผู้มาทำการติดต่อ ในการประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้หรือผลกำไรในประเทศไทย

3. กิจการซึ่งดำเนินการเป็นทางค้าหรือหากำไร โดย

  • ก. รัฐบาลต่างประเทศ
  • ข. องค์การของรัฐบาลต่างประเทศ
  • ค. นิติบุคคลอื่นที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ

4. กิจการร่วมค้า (Joint Venture) ได้แก่ กิจการที่ดำเนินการร่วมกันเป็นทางค้าหรือหากำไร ระหว่างบุคคลดังต่อไปนี้ คือ

  • ก. บริษัทกับบริษัท
  • ข. บริษัทกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
  • ค. ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
  • ง. บริษัทและหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับบุคคลธรรมดา
  • จ. บริษัทและหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับคณะบุคลที่มิใช่นิติบุคคล
  • ฉ. บริษัทและหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับห้างหุ้นส่วนสามัญ
  • ช. บริษัทและหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับนิติบุคคลอื่น

5. มูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการซึ่งมีรายได้ แต่ไม่รวมถึงมูลนิธิหรือสมาคม ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้เป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศล

6. นิติบุคคลที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรีและประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร