ประเด็นภาษีมูลค่าเพิ่ม

เมื่อกรมสรรพากรได้นำระบบภาษีมูลค่าเพิ่มเข้ามาใช้แทนระบบภาษีการค้าเพื่อเป็นการขจัดระบบภาษีซ้ำซ้อนเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2535 ธุรกิจต่างๆก็มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเป็นประมวลกฎหมายภาษีอากรคำสั่งกรมสรรพากร ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ตลอดจนกฎหมายลูกต่างๆที่เกี่ยวข้องกับภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้มีการประกาศนำออกมาใช้และมีการยกเลิกเปลี่ยนแปลงกฎหมายบางฉบับอีกด้วย นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2535 จนถึงปัจจุบัน สภาพปัญหาของการจัดทำบัญชีการนำภาษีมูลค่าเพิ่มออกมาใช้ในการประกอบกิจการยังมีอุปสรรคที่ผู้ประกอบการและผู้จัดทำบัญชียังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภาษีมูลค่าเพิ่มและได้ปฏิบัติไม่เป็นไปตามประมวลรัษฎากรที่ได้กำหนดไว้ อาจสืบเนื่องจากความเข้าใจตัวบทกฎหมายบางฉบับที่คลาดเคลื่อนหรือเข้าใจผิด แนวทางในการแก้ไขปัญหาของภาษีมูลค่าเพิ่มสิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ จะต้องทราบถึงโครงสร้างทางภาษีมูลค่าเพิ่ม หน้าที่ของผู้ประกอบการที่ต้องเสียภาษี และการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร จะทำให้ผู้ประกอบการและผู้จัดทำบัญชีจะสามารถจัดทำบัญชีได้ถูกต้องยิ่งขึ้น ความรู้ขั้นพื้นฐานของภาษีมูลค่าเพิ่มจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้จัดทำบัญชีและผู้ประกอบการจะต้องมีความแม่นยำทั้งหลักการบัญชีและกฎหมายภาษีอากร ซึ่งสรุปรายละเอียดที่สำคัญเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มมีดังต่อไปนี้

ภาษีมูลค่าเพิ่ม
หมายถึง ภาษีที่จัดเก็บจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการที่เพิ่มขึ้นในแต่ละขั้นตอนของการผลิตและการจำหน่ายสินค้าหรือบริการ โดยมูลค่าที่เพิ่มเป็นมูลค่าของส่วนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละขั้นตอนในการผลิตและการจำหน่ายสินค้าหรือการให้บริการ ก็คือค่าของผลต่างระหว่างราคาของสินค้าหรือบริการ ผลิตหรือจำหน่ายกับราคาของสินค้าหรือบริการที่ซื้อมาเพื่อใช้ในการผลิตหรือในการจำหน่ายสินค้าหรือบริการ

ประเด็นที่ 1 ผู้มีหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ผู้ประกอบการที่ขายสินค้าหรือให้บริการหรือวิชาชีพเป็นปกติธุระ ไม่ว่าการขายสินค้า หรือให้บริการดังกล่าวนั้น จะได้รับประโยชน์หรือผลตอบแทนหรือไม่ และไม่ว่าจะประกอบกิจการในรูปของบุคคลธรรมดา คณะบุคคล นิติบุคคล ส่วนราชการหรือองค์การของรัฐบาล ถ้าการประกอบกิจการมีรายรับเกินกว่า 1,800,000 บาทต่อปี ผู้ประกอบกิจการนั้นมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแต่หากการประกอบกิจการนั้นเป็นกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ประกอบการไม่มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้นผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามมาตรา 82 ได้แก่

  1. ผู้ประกอบการ
  2. ผู้นำเข้า
  3. ในกรณีผู้ประกอบการอยู่นอกราชอาณาจักรและได้ขายสินค้าหรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นปกติธุระโดยมีตัวแทนอยู่ในราชอาณาจักร ได้แก่ ตัวแทนดังกล่าว
  4. ในกรณีการขายสินค้าหรือการให้บริการที่ได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 (5) ถ้าภายหลังได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าหรือโอนสิทธิในบริการนั้นไปให้กับบุคคลที่มิใช่องค์การสหประชาชาติ ทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ สถานเอกอัครราชทูต สถานทูต สถานกงสุลใหญ่ สถานกงสุล ได้แก่ ผู้รับโอนสินค้าหรือผู้รับโอนสิทธิในบริการดังกล่าว
  5. ในกรณีสินค้านำเข้าที่จำแนกประเภทไว้ในภาคว่าด้วยของที่ได้รับยกเว้นอากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (2) (ค) ถ้าภายหลังสินค้านั้นต้องเสียอากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร ได้แก่
    ก. ผู้ที่มีความรับผิดตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร
    ข. ผู้รับโอนสินค้า ถ้ามีการโอนสินค้าดังกล่าว
  6. ในกรณีที่มีการควบเข้ากัน ได้แก่ ผู้ที่ควบเข้ากันและผู้ประกอบการใหม่
  7. ในกรณีโอนกิจการ ได้แก่ ผู้โอนและผู้รับโอน
  8. ในกรณีผู้ประกอบการอยู่นอกราชอาณาจักร ให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการประกอบกิจการรวมตลอดถึงลูกจ้างหรือผู้ทำการแทนซึ่งมีอำนาจในการจัดการแทนโดยตรง หรือโดยปริยายที่อยู่ในราชอาณาจักรเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มร่วมกับบุคคลตามข้อ 1. และ 2.