ประเด็นที่ 9 ภาษีซื้อต้องห้าม

ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระหรือพึงชำระ และภาษีซื้อของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน เว้นแต่ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีซื้อของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ต้องเสียภาษีซื้อที่ต้องห้ามนำมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีซื้ออื่นที่ได้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา ภาษีซื้อตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉบับที่ 17 ได้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษี ภาษีซื้อดังกล่าวก็คือ “ภาษีซื้อต้องห้าม” ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. ภาษีซื้อที่ห้ามขอคืนหรือเครดิตภาษีขาย แต่ให้ถือเป็นค่าใช้จ่ายได้
2. ภาษีซื้อที่ห้ามขอคืนหรือเครดิตภาษีขาย และห้ามถือเป็นค่าใช้จ่าย

สำหรับภาษีซื้อต้องห้ามทั้งสองประเภทดังกล่าวนั้นมีดังต่อไปนี้
1. กรณีไม่มีหลักฐานใบกำกับภาษี ภาษีซื้อที่เกิดขึ้นในการดำเนินกิจการ แต่ไม่มีหลักฐานใบกำกับภาษี (มาตรา 82/5 (1) )
2. กรณีมีใบกำกับภาษี แต่ไม่สามารถแสดงได้ว่ามีการชำระภาษีซื้อ
3. กรณีมีใบกำกับภาษี แต่ข้อความไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ ตามมาตรา 86/4
4. ภาษีซื้อที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการ
5. ภาษีซื้อที่เกิดจากรายจ่ายเพื่อการรับรองหรือเพื่อการอื่นในลักษณะทำนองเดียวกัน
6. ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อ เช่า เช่าซื้อ หรือรับโอนรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต และภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือการรับบริการที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต
7. ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีอย่างย่อตามมาตรา 86/6 และ 86/7
8. ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อทรัพย์สินเพื่อใช้หรือจะใช้ในกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือภาษีซื้อที่เกิดจากรายจ่ายของกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
9. ภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นๆ เพื่อใช้หรือจะใช้ในกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและต่อมาได้ขายหรือให้เช่าหรือนำไปใช้ในกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้เฉพาะที่ได้กระทำภายใน 3 ปีนับแต่เดือนภาษีที่ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์
10. ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 ซึ่งรายการมิได้ตีพิมพ์ขึ้นหรือมิได้จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ในกรณีจัดทำใบกำกับภาษีขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งฉบับ
11. ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีซึ่งรายการตามมาตรา 86/4 (8) มิได้จัดทำขึ้นตามวิธีการตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 86/4 (8) แห่งประมวลรัษฎากร
12. ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีซึ่งมีรายการในใบกำกับภาษีเป็นสำเนา (Copy) แต่ไม่รวมถึงใบกำกับภาษีที่ได้จัดทำรวมกับเอกสารทางการค้าอื่น ซึ่งมีจำนวนหลายฉบับ และใบกำกับภาษีซึ่งมีรายการในใบกำกับภาษีเป็นสำเนามีข้อความว่า “เอกสารออกเป็นชุด” ปรากฏอยู่ด้วย
13. ภาษีซื้อส่วนที่เฉลี่ยเป็นของกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งได้คำนวณตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
14. ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือรับบริการ ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนนำไปใช้หรือจะใช้ในการประกอบกิจการทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และผู้ประกอบการจดทะเบียนใช้สิทธิเลือกไม่นำภาษีซื้อทั้งหมดไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มมีรายได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของรายได้ของกิจการทั้งหมด
15. ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 ซึ่งรายการได้ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลง เว้นแต่รายการซึ่งได้ถูกแก้ไขเปลี่ยนแปลงตามหลักเกณฑ์ที่ได้กำหนด
16. ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อ เช่า เช่าซื้อ หรือรับโอนรถยนต์ที่มิใช่รถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต เพื่อใช้หรือจะใช้ในกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และต่อมาได้มีการดัดแปลงรถยนต์ดังกล่าวเป็นรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ทั้งนี้เฉพาะที่ได้กระทำภายใน 3 ปีนับแต่เดือนภาษีที่ได้รถยนต์ไว้ในครอบครอง
17. ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งรายการตามมาตรา 86/4 (2) แห่งประมวลรัษฎากร มิได้ตีพิมพ์ขึ้น หรือมิได้จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ในกรณีจัดทำใบกำกับภาษีขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งฉบับ
18. ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีที่ออกโดยผู้ไม่มีสิทธิออก
19. ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับมาจากผู้ประกอบการจดทะเบียนอื่น โดยที่มิได้มีการถูกเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มมาก่อนจริง