ประเด็นที่ 6 ฐานภาษีมูลค่าเพิ่ม (Tax Base)

ฐานภาษี หมายถึง มูลค่าทั้งหมดที่ผู้ประกอบการได้รับหรือพึงได้รับจากการขายสินค้าหรือการให้บริการ รวมทั้งภาษีสรรพสามิต (ถ้ามี) ด้วย ดังนั้นมูลค่าของฐานภาษีจึงหมายรวมถึง เงิน ทรัพย์สิน ค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือประโยชน์ใดๆ ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน
มูลค่าของฐานภาษีไม่รวมถึง

1. ส่วนลดหรือค่าลดหย่อนที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ลดให้ในขณะขายสินค้าหรือให้บริการ และได้หักส่วนลดหรือค่าลดหย่อนดังกล่าวออกจากราคาสินค้าหรือราคาค่าบริการ โดยได้แสดงให้เห็นไว้ชัดแจ้งว่าได้มีการหักส่วนลดหรือค่าลดหย่อนไว้ในใบกำกับภาษีในแต่ละครั้งที่ออกแล้ว ทั้งนี้เว้นแต่ส่วนลดหรือค่าลดหย่อนในการขายสินค้าหรือให้บริการของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีอย่างย่อตามมาตรา 86/6 หรือมาตรา 86/7 ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะไม่แสดงส่วนลดหรือค่าลดหย่อนดังกล่าวให้เห็นชัดแจ้งไว้ในใบกำกับภาษีอย่างย่อก็ได้

2. ค่าชดเชยหรือเงินอุดหนุนตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี

3. ภาษีขาย

4. ค่าตอบแทนที่มีลักษณะและเงื่อนไขตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรีตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40) เรื่อง กำหนดลักษณะและเงื่อนไขค่าตอบแทนที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษีตามมาตรา 79 (4) แห่งประมวลรัษฎากร มีดังนี้

ค่าตอบแทนที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการขายสินค้า การให้บริการดังต่อไปนี้ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษี
1) มูลค่าของสินค้าที่แถมพร้อมกับขายสินค้าหรือการให้บริการ ไม่ว่าสินค้าที่แถมนั้นจะเป็นสินค้าประเภทและชนิดเดียวกับสินค้าที่ขายหรือบริการ ที่กระทำหรือไม่ แต่มูลค่าของสินค้าที่แถมจะต้องไม่เกินมูลค่าของสินค้าที่ขายหรือมูลค่าของการให้บริการ

2) มูลค่าของสินค้าที่แจกหรือให้เป็นรางวัลกับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการที่ซื้อสินค้าหรือรับบริการในแต่ละวัน โดยมีมูลค่ารวมกันตามที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนกำหนด แต่มูลค่าของสินค้าที่แจกหรือให้เป็นรางวัลต้องมีมูลค่าไม่เกินมูลค่าของสินค้าที่ขายหรือมูลค่าของการให้บริการ

3) มูลค่าของการให้บริการเนื่องจากการเป็นนายหน้าตัวแทนให้แก่ ผู้ประกอบการในต่างประเทศ ทั้งนี้เฉพาะในกรณีที่ผู้ประกอบการในต่างประเทศดังกล่าวขายสินค้าหรือให้บริการกับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการในต่างประเทศด้วยกัน

4) มูลค่าของสินค้าที่ผู้ประกอบการในเขตอุตสาหกรรมส่งออกตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้ขายให้แก่ผู้ซื้อสินค้าในราชอาณาจักร และผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้นำเข้าตามมาตรา 77/1 (11) แห่งประมวลรัษฎากร ได้ยื่นกระทำพิธีการนำเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรเมื่อนำสินค้านั้นออกจากเขตอุตสาหกรรมส่งออกแล้ว ผู้ซื้อต้องมิใช่ผู้ประกอบการในเขตอุตสาหกรรมส่งออกตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือคลังสินค้าทัณฑ์บนตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร

5) มูลค่าของสินค้าที่ผู้ประกอบการในเขตอุตสาหกรรมส่งออกตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ขายให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่มิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/16 แห่งประมวลรัษฎากร และผู้ประกอบการในเขตอุตสาหกรรมส่งออก ดังกล่าวเป็นผู้นำเข้าตามมาตรา 77/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ได้ยื่นกระทำพิธีการนำเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร เมื่อนำสินค้านั้นออกจากอุตสาหกรรมส่งออกแล้ว

ผู้ซื้อต้องมิใช่ผู้ประกอบการในเขตอุตสาหกรรมส่งออกตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือคลังสินค้าทัณฑ์บนตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร

6) มูลค่าของสินค้าที่แจกหรือให้เป็นของขวัญเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี เช่น เทศกาลปีใหม่ เทศกาลสงกรานต์ การเปิดแนะนำสินค้าใหม่ ทั้งนี้เฉพาะสินค้าที่เป็นปฏิทิน สมุดบันทึกประจำวัน (Diary) หรือสินค้าที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน ของขวัญหรือของชำร่วยที่มีชื่อผู้ประกอบการ ชื่อการค้าหรือเครื่องหมายการค้าของผู้ประกอบการปรากฏอยู่ โดยของขวัญหรือของชำร่วยดังกล่าวต้องเป็นสิ่งของที่พึงให้แก่กันตามประเพณีทางธุรกิจทั่วไป และต้องมีราคาหรือมูลค่าไม่เกินสมควร

7) มูลค่าของสินค้าตัวอย่างที่แจก เนื่องจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย

8) มูลค่าของอาหารและเครื่องดื่มที่นายจ้างจัดมาให้กับพนักงานหรือลูกจ้างในระหว่างเวลาปฏิบัติงาน ตามระเบียบเกี่ยวกับสวัสดิการของพนักงานหรือลูกจ้าง โดยมูลค่าของอาหารและเครื่องดื่มดังกล่าวต้องมีราคาไม่เกินสมควร

9) มูลค่าของสินค้าที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่มิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน ซึ่งต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/16 แห่งประมวลรัษฎากรได้ขายให้แก่ผู้ซื้อ โดยสินค้าดังกล่าวผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ขายได้นำเข้าจากต่างประเทศและได้โอนสินค้าให้ผู้ซื้อยื่นใบขนสินค้าขาเข้าต่อเจ้าพนักงานศุลกากร ณ ด่านศุลกากร เพื่อชำระภาษีมูลค่าเพิ่มต่อเจ้าพนักงานศุลกากร ตามมาตรา 83/8 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ทั้งนี้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ขายสินค้าจะต้องมีสำเนาใบเสร็จรับเงินของกรมศุลกากรที่ออกให้ผู้ซื้อพร้อมที่จะให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้

การคำนวณมูลค่าของฐานภาษีสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการให้ถือมูลค่าของฐานภาษีเมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้
1) การขายสินค้าหรือการให้บริการโดยไม่มีค่าตอบแทนหรือมีค่าตอบแทน ต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร มูลค่าของฐานภาษีให้ถือตามราคาตลาดของสินค้าหรือการให้บริการในวันที่ความรับผิดเกิดขึ้น

2) การขายสินค้าหรือการให้บริการในกรณีที่ผู้ประกอบการนำสินค้าไปใช้หรือได้ใช้บริการไม่ว่าโดยตนเองหรือบุคคลอื่น โดยมิใช่เพื่อการประกอบกิจการโดยตรงตามมาตรา 77/1 (8) (ง) หรือ (1) มูลค่าของฐานภาษีให้ถือตามราคาตลาดของสินค้าหรือบริการในวันที่ความรับผิดเกิดขึ้น

3) การขายสินค้าตามมาตรา 77/1 (8) (จ) ที่เกิดจากสินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบตามมาตรา 87 (3) หรือมาตรา 87 วรรคสอง มูลค่าของฐานภาษีให้ถือตามราคาตลาดของสินค้าในวันที่ความรับผิดเกิดขึ้น

4) การขายสินค้าที่ได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 (5) และภายหลังได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าอันทำให้ผู้รับโอนสินค้ามีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/1 (2) มูลค่าของฐานภาษีให้ถือราคาตลาดตามสภาพหรือปริมาณของสินค้าที่เป็นอยู่ในวันที่ความรับผิดเกิดขึ้น

5) การขายสินค้าในกรณีผู้ประกอบการมีสินค้าคงเหลือและหรือมีทรัพย์สินที่ผู้ประกอบการมีไว้ในการประกอบกิจการ ณ วันเลิกประกอบกิจการ มูลค่าของฐานภาษีให้ถือตามราคาตลาดในวันเลิกประกอบกิจการ ราคาตลาดนี้ให้ถือราคาเฉลี่ยของราคาตลาดที่ซื้อขายกันตามความเป็นจริงทั่วไป ในวันที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ทั้งนี้ตามที่ได้มีการตรวจสอบราคาตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกำหนด และในกรณีที่ไม่อาจทราบราคาตลาดได้แน่นอนให้อธิบดีโดยอนุมัติรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศใช้เกณฑ์คำนวณเพื่อให้ได้มาซึ่งราคาตลาดได้

ในกรณีที่มูลค่าของฐานภาษีที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าเป็นเงินตราต่างประเทศให้คำนวณเงินตราต่างประเทศนั้น เป็นเงินตราไทยตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

1) ในกรณีได้รับเงินตราต่างประเทศจากการขายสินค้าหรือการให้บริการ และได้มีการขายเงินตราต่างประเทศที่ได้รับชำระนั้นเป็นเงินตราไทยในเดือนที่ ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นให้ถือเงินตราไทยจากการขายนั้นเป็นมูลค่าของฐานภาษีที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการขายสินค้าหรือการให้บริการแล้วแต่กรณี เว้นแต่มิได้มีการขายเงินตราต่างประเทศในเดือนที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ให้ถือตามอัตราถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ในวันทำการสุดท้ายของเดือนที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น

2) ในกรณีนำเข้าสินค้าให้คำนวณราคา C.I.F. ของสินค้านำเข้าที่เป็นเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยตามอัตราที่กรมศุลกากรใช้คำนวณเพื่อเรียกเก็บ อากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร