เมื่อกิจการเป็นผู้ประกอบการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งมีหน้าที่อยู่ 3 ประการ คือ ต้องออกใบกำกับภาษี ต้องจัดทำรายงานภาษีมูลค่าเพิ่ม และต้องยื่นแบบเพื่อชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ กิจการจะออกใบกำกับภาษีเมื่อใด กิจการที่เป็นผู้ประกอบการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจะออกใบกำกับภาษีเมื่อมีความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของกิจการต่างๆ มีดังนี้
1. ธุรกิจขายสินค้า
1.1 การขายสินค้าทั่วไป
ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของธุรกิจขายสินค้าเกิดขึ้นเมื่อส่งมอบสินค้า เว้นแต่กรณีที่ได้มีการกระทำต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อนการส่งมอบสินค้าให้ถือว่าความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้มีการกระทำนั้นๆ ด้วย ทั้งนี้โดยให้ความรับผิดเกิดขึ้นตามส่วนของการกระทำนั้นๆ แล้วแต่กรณี
ก. โอนกรรมสิทธิ์สินค้า
ข.ได้รับชำระราคาสินค้า หรือ
ค. ได้ออกใบกำกับภาษี
1.2 การขายสินค้าตามสัญญาให้เช่าซื้อหรือสัญญาซื้อขายผ่อนชำระ
การขายสินค้าตามสัญญาให้เช่าซื้อหรือสัญญาซื้อขายผ่อนชำระที่กรรมสิทธิ์ในสินค้ายังไม่โอนไปยังผู้ซื้อเมื่อได้ส่งมอบ ให้ความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อถึงกำหนดชำระราคาตามงวดที่ถึงกำหนดชำระราคาแต่ละงวด เว้นแต่กรณีที่ได้มีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อนถึงกำหนดชำระราคาแต่ละงวด ก็ให้ถือว่าความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้มีการกระทำนั้นๆ ด้วย
ก. ได้รับชำระราคาสินค้า หรือ
ข. ได้ออกใบกำกับภาษี
ทั้งนี้ โดยให้ความรับผิดเกิดขึ้นตามส่วนของการกระทำนั้นๆ แล้วแต่กรณี
1.3 การขายสินค้าโดยมีการตั้งตัวแทนเพื่อขาย
การขายสินค้าโดยมีการตั้งตัวแทนเพื่อขายและได้ส่งมอบสินค้าให้ตัวแทนแล้ว ทั้งนี่เฉพาะสัญญาการตั้งตัวแทนเพื่อขายตามประเภทของสินค้าและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรีให้ความรับผิดทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อตัวแทนได้ส่งมอบสินค้าให้ผู้ซื้อ เว้นแต่กรณีที่ได้มีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อนการส่งมอบสินค้าให้ผู้ซื้อ ก็ให้ถือว่าความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้มีการกระทำนั้นๆ ด้วย
ก. ตัวแทนได้โอนกรรมสิทธิ์สินค้าให้ผู้ซื้อ
ข. ตัวแทนได้รับชำระราคาสินค้า
ค. ตัวแทนได้ออกใบกำกับภาษี หรือ
ง. ได้มีการนำสินค้าไปใช้ไม่ว่าโดยตัวแทนหรือบุคคลอื่น
ทั้งนี้ โดยให้ความรับผิดเกิดขึ้น ตามส่วนของการกระทำนั้นๆ แล้วแต่กรณี
1.4 การขายสินค้าโดยการส่งออก
การขายสินค้าโดยการส่งออกให้ความรับผิดเกิดขึ้นดังต่อไปนี้
ก. การส่งออกนอกจากที่ระบุใน ข. หรือ ค. ให้ความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อชำระอากรขาออก วางหลักประกันอากรขาออก หรือจัดให้มีผู้ค้ำประกันอากรขาออก เว้นแต่ในกรณีที่ไม่ต้องเสียอากรขาออกหรือได้รับยกเว้นอากรขาออกแล้วแต่กรณี ก็ให้ถือว่าความรับผิดเกิดขึ้นในวันที่มีการออกใบขนสินค้าขาออกตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
ข. การส่งออกในกรณีที่นำสินค้าเข้าไปในเขตอุตสาหกรรมส่งออกให้ความรับผิดเกิดขึ้นในวันที่นำสินค้าในราชอาณาจักรเข้าไปในเขตอุตสาหกรรมส่งออก
ค. การส่งออกซึ่งสินค้าที่อยู่ในคลังสินค้าทัณฑ์บนตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรให้ความรับผิดเกิดขึ้นพร้อมกับความรับผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
1.5 การขายสินค้าที่ได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0
การขายสินค้าที่ได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 และภายหลังได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าอันทำให้ผู้รับโอนสินค้ามีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มให้ความรับผิดทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อโอนกรรมสิทธิ์สินค้า
2. ธุรกิจให้บริการ
2.1 การให้บริการทั่วไป
ความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระราคาค่าบริการ เว้นแต่กรณีที่ได้มีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อนได้รับชำระราคาค่าบริการ ก็ให้ถือว่าความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้มีการกระทำนั้นๆ ด้วย
ก. ได้ออกใบกำกับภาษี หรือ
ข. ได้ใช้บริการไม่ว่าโดยตนเองหรือบุคคลอื่น
2.2 การให้บริการตามสัญญาที่กำหนดค่าตอบแทนตามส่วนของบริการ
การให้บริการตามสัญญาที่กำหนดค่าตอบแทนตามส่วนของบริการที่ทำให้ความรับผิดตามส่วนของบริการเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระราคาค่าบริการตามส่วนของบริการที่สิ้นสุดลง เว้นแต่กรณีที่ได้มีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อนได้รับชำระค่าบริการตามส่วนของบริการที่สิ้นสุดลง ก็ให้ถือว่าความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้มีการกระทำนั้นๆ ด้วย
ก. ได้ออกใบกำกับภาษี หรือ
ข. ได้ใช้บริการไม่ว่าโดยตนเองหรือบุคคลอื่น
ทั้งนี้ความรับผิดเกิดขึ้นตามส่วนของการกระทำนั้นๆ แล้วแต่กรณี
2.3 การให้บริการที่ทำในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการในประเทศไทย
การให้บริการที่ทำในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรความรับผิดทั้งหมดหรือบางส่วนเกิดขึ้นเมื่อมีการชำระราคาค่าบริการทั้งหมดหรือบางส่วนแล้วแต่กรณี
2.4 การให้บริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0
การให้บริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 (5) และภายหลังได้มีการโอนสิทธิในบริการอันทำให้ผู้รับโอนสิทธิในบริการมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/1 (2) ให้ความรับผิดทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระราคาค่าบริการ
2.5 การขายสินค้าหรือให้บริการได้รับชำระด้วยเช็ค
ในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการได้รับชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยเช็ค ผู้ประกอบการมีหน้าที่ออกใบกำกับภาษีและใบรับตามวันที่ลงในเช็ค
กรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการ ได้รับชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยเช็ค โดยได้รับมอบเช็คลงวันที่ที่ผ่านมาแล้ว ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนจัดทำใบกำกับภาษีและใบรับตามวันที่ลงในเช็คนั้น เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้ให้จัดทำใบกำกับภาษีและใบรับตามวันที่ได้รับมอบเช็คนั้น
ก. กรณีรัฐบาล องค์การของรัฐบาล เทศบาล สุขาภิบาล หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นอื่นเป็นผู้ออกเช็ค
ข. นอกจากกรณีตาม ก. ในกรณีผู้ออกเช็คเป็นบุคคลธรรมดา บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ซึ่งได้ออกเอกสารรับรองว่าได้ส่งมอบเช็คให้ผู้ประกอบการเมื่อ วัน เดือน ปีใด และได้ส่งมอบเอกสารดังกล่าวให้ในวันเดียวกับที่ส่งมอบเช็คนั้น และผู้ประกอบการต้องมีเอกสารนี้พร้อมที่จะให้เจ้าพนักงานสรรพากรตรวจสอบได้ทันที
3. การนำเข้าสินค้า
ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากการนำเข้าให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังนี้
3.1 การนำเข้านอกจากที่อยู่ในบังคับ (3.2) (3.3) หรือ (3.4) ให้ความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อชำระอากรขาเข้า วางหลักประกันอากรขาเข้า หรือจัดให้มีผู้ค้ำประกันอากรขาเข้า เว้นแต่กรณีที่ไม่ต้องเสียอากรขาเข้าหรือได้รับยกเว้นอากรขาเข้าก็ให้ถือว่าความรับผิดเกิดขึ้นในวันที่มีการออกใบขนสินค้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
3.2 การนำเข้ากรณีนำสินค้าในราชอาณาจักรเข้าไปในเขตอุตสาหกรรมส่งออกแล้วนำสินค้าออกจากเขตดังกล่าวโดยมิใช่เพื่อส่งออก ให้ความรับผิดเกิดขึ้นในวันที่นำสินค้านั้นออกจากเขตอุตสาหกรรมส่งออก โดยมิใช่เพื่อส่งออก
3.3 การนำเข้ากรณีของตกค้างตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ให้ความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อทางราชการได้ขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่น เพื่อนำเงินมาชำระค่าภาษี ค่าเก็บรักษา ค่าย้ายขน หรือค่าภาระติดพันตามวิธีการตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
3.4 การนำเข้าสินค้าที่จำแนกประเภทไว้ในภาคว่าด้วยของที่ได้รับยกเว้นอากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลการกร ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ถ้าภายหลังสินค้านั้นต้องเสียอากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร อันทำให้ผู้ที่มีความรับผิดตามกฎหมายดังกล่าวหรือผู้รับโอนสินค้ามีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้ความรับผิดเกิดขึ้นพร้อมกับความรับผิดตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร
4. การขายสินค้าหรือให้บริการอื่น
ให้ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการในกรณีดังต่อไปนี้
4.1 การขายสินค้าที่ไม่มีรูปร่าง เช่น สิทธิในสิทธิบัตร กู๊ดวิลล์ การขายกระแสไฟฟ้า การขายสินค้าที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน หรือการขายสินค้าบางชนิดที่ตามลักษณะของสินค้าไม่อาจกำหนดได้แน่นอนว่ามีการส่งมอบเมื่อใด ให้ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระราคาสินค้า เว้นแต่กรณีได้มีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อนได้รับชำระราคาสินค้าก็ให้ความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้มีการกระทำนั้นๆด้วย
ก. โอนกรรมสิทธิ์สินค้า หรือ
ข. ได้ออกใบกำกับภาษี
ทั้งนี้โดยให้ความรับผิดเกิดขึ้นตามส่วนของการกระทำนั้นๆ แล้วแต่กรณี
4.2 การขายกระแสไฟฟ้า น้ำประปา หรือสินค้าที่มีลักษณะทำนองเดียวกันให้ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระราคาสินค้า หรือได้มีการออกใบกำกับภาษีก่อนได้รับชำระราคาสินค้าแล้วแต่กรณี ทั้งนี้โดยให้ความรับผิดเกิดขึ้นตามส่วนของการกระทำนั้นๆ
4.3 การขายสินค้าหรือการให้บริการด้วยเครื่องอัตโนมัติโดยวิธีการชำระราคาด้วยการหยอดเงิน ใช้เหรียญหรือบัตร หรือในลักษณะทำนองเดียวกัน ให้ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อได้นำเงิน เหรียญ บัตร หรือสิ่งอื่นในลักษณะทำนองเดียวกันออกจากเครื่องอัตโนมัติ
4.4 การขายสินค้าโดยการชำระราคาด้วยการใช้บัตรเครดิต หรือในลักษณะทำนองเดียวกัน ให้ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อส่งมอบสินค้าเว้นแต่กรณีที่ได้มีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อนส่งมอบสินค้า ก็ให้ความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้มีการกระทำนั้นๆ ด้วย
ก. โอนกรรมสิทธิ์สินค้า
ข. เมื่อมีการออกหลักฐานการใช้บัตรเครดิต หรือ
ค. ได้ออกใบกำกับภาษี
4.5 การให้บริการโดยการชำระราคาด้วยการใช้บัตรเครดิตหรือในลักษณะทำนองเดียวกัน ให้ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อมีการออกหลักฐานการใช้บัตรเครดิต เว้นแต่กรณีที่ได้มีการออกใบกำกับภาษีก่อนการออกหลักฐานการใช้บัตรเครดิต ก็ให้ความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้มีการออกใบกำกับภาษีนั้น
4.6 การขายสินค้าตามสัญญาจะขายสินค้า ให้ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อส่งมอบสินค้า เว้นแต่กรณีที่ได้มีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อนส่งมอบสินค้า ก็ให้ความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้มีการกระทำนั้นๆ ด้วย
ก. โอนกรรมสิทธิ์สินค้า
ข. ได้รับชำระราคาสินค้า หรือ
ค. ได้ออกใบกำกับภาษี
ทั้งนี้โดยให้ความรับผิดเกิดขึ้นตามส่วนของการกระทำนั้นๆ แล้วแต่กรณี
4.7 ในกรณีที่ผู้ประกอบการนำสินค้าไปใช้โดยตนเองหรือบุคคลอื่นโดยมิใช่เพื่อการประกอบกิจการโดยตรง ให้ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อนำไปใช้หรือส่งมอบสินค้าให้บุคคลอื่นเพื่อใช้
4.8 ในกรณีสินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ ให้ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อมีการตรวจพบ
4.9 ในกรณีผู้ประกอบการมีสินค้าคงเหลือและ / หรือทรัพย์สินที่ผู้ประกอบการมีไว้ในการประกอบกิจการ ณ วันเลิกประกอบกิจการ ให้ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อเลิกประกอบกิจการหรือแจ้งเลิกประกอบกิจการ เว้นแต่ในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับอนุญาตให้ออกใบกำกับภาษีใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้ต่อไปเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะหยุดประกอบกิจการให้ความรับผิดเป็นไปตามมาตรา 78 แห่งประมวลรัษฎากร
4.10 ในกรณีผู้ประกอบการมีสินค้าคงเหลือและ / หรือทรัพย์สินที่ผู้ประกอบการมีไว้ในการประกอบกิจการ
ก. ณ วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ข. ณ วันที่ได้รับแจ้งการเพิกถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ให้ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อได้รับแจ้งคำสั่งถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือได้รับแจ้งการเพิกถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วแต่กรณี เว้นแต่ในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับอนุญาตให้ออกใบกำกับภาษีใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้ต่อไปเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะหยุดประกอบกิจการ ให้ความรับผิดเป็นไปตามมาตรา 78 แห่งประมวลรัษฎากร